: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 6 ฉบับที่ 07 ประจำเดือน 07 2546
หัวข้อข่าว : งานมหกรรมศิลปวัฒนธรรม ครั้งที่ 11
รายละเอียด :
         สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  ได้จัดงาน
มหกรรมศิลปวัฒนธรรม  ครั้งที่  11  เมื่อวันที่  2 – 10  กรกฎาคม  ที่ผ่านมา  โดยมี  รศ.ดร.ประเสริฐ  ชิตพงศ์  
อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  เป็นประธานในพิธีเปิดงาน  รศ.ผดุงยศ  ดวงมาลา  รองอธิการบดี  
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  กล่าวรายงาน  นายสมพร  ใช้บางยาง  ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี  
ได้กล่าวถึงนโยบายและการดำเนินงานด้านวัฒนธรรมของจังหวัดปัตตานี  สำหรับกิจกรรมที่จัดให้มีในงาน
มหกรรมศิลปวัฒนธรรมครั้งนี้ประกอบด้วย  การจัดนิทรรศการวิชาการเรื่องปัตตานีศึกษา  การจัดนิทรรศการ
ภาพถ่ายโบราณเมืองปัตตานี  การสาธิตภูมิปัญญาและหัตถกรรมพื้นบ้าน  การสาธิตอาหารพื้นบ้าน  การแสดง
นาฏศิลป์พื้นบ้าน  นาฏศิลป์ไทย  การแสดงนาฏศิลป์จากต่างประเทศ  ศิลปะการแสดงบนเวทีกลาง  เวทีลาน
วัฒนธรรม  การละเล่นพื้นบ้าน  การออกร้านจำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์  มหรสพ  และการละเล่น
ต่าง  ๆ  นอกจากนั้นยังเป็นการรวบรวมสิ่งล้ำค่ามาแสดงให้ประชาชนได้เห็นคุณค่า  นอกจากจะปลุกจิตสำนึก
ในด้านสืบสานศิลปวัฒนธรรมแล้ว  ยังเป็นการอนุรักษ์และใช้ศิลปวัฒนธรรมเป็นตัวประสานความเข้าใจอันดี
ระหว่างกลุ่มชนในท้องถิ่นปัตตานี  จังหวัดใกล้เคียง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดชายแดนภาคใต้
         รศ.ผดุงยศ  ดวงมาลา  รองอธิการบดี  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  กล่าวว่า
ศิลปวัฒนธรรมมีความสำคัญยิ่งต่อการดำรงความเป็นชาติ  เพราะชาติที่เป็นอารยะย่อมมีสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์
ของตัวเอง  ฉะนั้นสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา  จึงได้มีการอนุรักษ์  ส่งเสริม  และเผยแพร่
ศิลปะประเพณีและวัฒนธรรมของชาติ  ซึ่งเป็นงานหลักหนึ่งในสี่ของหน้าที่ที่กำหนดไว้ของมหาวิทยาลัยสงขลา
นครินทร์  การรวบรวมศิลปวัฒนธรรมของชาติเผยแพร่นับเป็นหน้าที่ที่สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา
ถือเป็นงานสำคัญ  จึงได้จัดงาน  “มหกรรมศิลปวัฒนธรรม”  ขึ้น  ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่  11  ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่  
2 – 10  กรกฎาคม  2546  เป็นเวลา  9  วัน  9  คืน  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ศิลปวัฒนธรรมในการสร้าง
ภาพพจน์ที่ดีในสายตาของชาวไทยทั่วประเทศให้เห็นคุณค่าทางความงามแห่งศิลปะและวัฒนธรรมและเพื่อ
การดำรงอยู่ในสังคมของภาคใต้และภาคอื่น  ๆ  ส่งผลให้เกิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดชายแดน
ภาคใต้อีกด้วย  ประกอบกับเป็นการอนุรักษืและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้และ
ภาคอื่น  ๆ  สู่สังคมและเผยแพร่ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมแก่นักเรียน  นักศึกษา  และประชาชนทั่วไป  เพื่อ
ป้องกันการเสื่อมสลายของศิลปะการแสดงและดนตรีพื้นบ้าน  ภูมิปัญญาพื้นบ้าน  ตลอดถึงหัตถกรรมพื้นบ้าน
อันเป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้และของชาติ
         รศ.ดร.ประเสริฐ  ชิตพงศ์  อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  เปิดเผยว่ามหาวิทยาลัย
ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ  จึงได้สนับสนุน
ให้หน่วยงานต่าง  ๆ  จัดกิจกรรมด้านวัฒนธรรมเพื่อสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมไทยมาโดยตลอด  โดย
เฉพาะอย่างยิ่งสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา  เป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบงานด้านนี้  นอกจากนี้
การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติ  ถือว่าเป็นภารกิจหนึ่งในสี่ภารกิจของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  
ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนาที่จะต้องส่งเสริม  อนุรักษ์  ทำนุบำรุง  สืบสาน  
ถ่ายทอดไปสู่เยาวชนของชาติเพื่อการสืบสานสืบไป
         วัฒนธรรมคือวิถีชีวิตแห่งมนุษย์  ศิลปะคือสิ่งสวยงามที่มนุษย์ต้องการวิถีชีวิตที่อยู่ท่ามกลาง
ความสวยงามอันล้ำค่าคือ  สิ่งบ่งบอกความเป็นผู้มีรสนิยมและความมีจิตใจสูงของมนุษย์  โดยเฉพาะของ
ประชาชนคนไทยที่อยู่กับสิ่งเหล่านี้มาโดยตลอด  ผมขอร่วมแสดงความยินดีต่อการจัดงานมหกรรมศิลป
วัฒนธรรมครั้งนี้เป็นการจัดงานที่ส่งเสริม  เผยแพร่  อนุรักษ์วัฒนธรรมไทย  ซึ่งสำคัญยิ่งของชาติ
         “ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าศิลปวัฒนธรรมของชาติจะเป็นตัวประสานความเข้าใจอันดีระหว่างกลุ่มชนในชาติ  
ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดความผาสุกในการอยู่ร่วมกันแล้ว  ยังเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงและภาพลักษณ์อันดี
ให้แก่จังหวัดชายแดนภาคใต้  จังหวัดใกล้เคียง  และประเทศเพื่อนบ้าน”  รศ.ดร.ประเสริฐ  ชิตพงศ์  กล่าว
         นายสมพร  ใช้บางยาง  ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี  ได้กล่าวถึงนโยบายและการดำเนินงานด้านวัฒนธรรม
ของจังหวัดปัตตานีว่า  ในฐานะที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลที่คอยควบคุมดูแลการบริหารงานภาครัฐให้เป็นไปตาม
นโยบายของรัฐบาลรู้สึกยินดี  ภูมิใจที่ได้มาปฏิบัติงานในจังหวัดปัตตานี  ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีประวัติความเป็นมา
ที่ยาวนาน  ผู้ศึกษาประวัติจังหวัดปัตตานีย่อมทราบดีว่า  จังหวัดปัตตานีในอดีตเป็นศูนย์กลางการค้าขาย
แลกเปลี่ยนสินค้าในภูมิภาคเอเซีย  สถานที่ที่เคยเป็นศูนย์กลางการติดต่อย่อมเป็นแหล่งพักพิงของคน
หลายเชื้อชาติหลายศาสนา  ภาษา  วัฒนธรรม  ขนบธรรมเนียมประเพณี  นั่นคือที่ว่าของความหลากหลาย
ทางวัฒนธรรมของจังหวัดปัตตานี  การจัดตั้งสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  
วิทยาเขตปัตตานี  เพื่ออนุรักษ์  ส่งเสริม  ฟื้นฟู  เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม  ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของประเทศเพื่อให้
ชาวไทยและชาวโลกรับรู้  สอดคล้องกับนโยบายของจังหวัดที่ต้องการคงไว้ซึ่งทุนทางสังคมอันประมาณค่ามิได้
ของความหลากหลายของวัฒนธรรม  ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน  การจัดงานของสถาบันที่จัดต่อเนื่อง
กันมาปีนี้เป็นปีที่  11  แสดงให้เห็นถึงความแน่วแน่ของสถาบันที่ต้องการอนุรักษ์  สืบค้น  เผยแพร่วัฒนธรรม
ของจังหวัดและของภาคใต้ให้คงอยู่เป็นทุนที่จะชักนำให้นักท่องเที่ยวได้มาศึกษามาเที่ยวจังหวัดปัตตานี  
กิจกรรมที่จัดนี้ถือเป็นกิจกรรมที่สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่จังหวัด  ซึ่งเป็นนโยบายหลักของจังหวัดปัตตานี  
ซึ่งนับแต่ผมได้มาบริหารงานในจังหวัด  ผมได้จัดกิจกรรมที่มีอยู่เดิมให้ยิ่งใหญ่  เพื่อให้ประชาชนในและ
ต่างจังหวัดมาเที่ยว  มาสัมผัส  แล้วนำความรู้สึกที่ดีเหล่านั้นไปบอกต่อ  เพื่อให้คนที่ได้รับข่าวในทางไม่ดี
ได้เข้าใจข้อเท็จจริงที่แท้จริงแล้วมาเที่ยว  กิจกรรมที่ดำเนินการมานับจากการจัดการแข่งขันกีฬาโรงเรียน
สาธิตทั่วประเทศ  งานศิลปหัตถกรรมนักเรียนในภาคใต้  งานแสดง  แสง  สี  เสียงเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว  งาน
กาชาด  รวมทั้งการออกกำลังไท้เก๊กชี่กง  ซึ่งจัดต่อเนื่องทุกเดือน  สมกับคำกล่าวที่ว่า  “เที่ยวปัตตานี  เที่ยวได้
ทุกเดือน”
         “ผมขอย้ำถึงความภาคภูมิใจที่ได้มาปฏิบัติงานในจังหวัดที่มีวัฒนธรรมหลากหลายและผมเชื่อว่า
ประชาชนชาวปัตตานีทุกคนคงภาคภูมิใจเช่นเดียวกัน  ขอให้การจัดกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมของสถาบัน
คงอยู่คู่กับมหาวิทยาลัยและจังหวัดปัตตานีต่อไป  และผมหวังว่าครั้งต่อไปคงจะเห็นกิจกรรมวัฒนธรรมที่
หลากหลายมากกว่านี้  มีประชาชน  กลุ่มบุคคลเข้ามาร่วมเพิ่มมากขึ้นทุกปี  ขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
ทุกคนที่มีส่วนร่วมในการสรรสร้าง  จรรโลง  อนุรักษ์  พัฒนา  ศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดปัตตานีให้
คงอยู่ตลอดไป  จังหวัดปัตตานีถือเป็นนโยบายสำคัญในการพัฒนาอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของจังหวัด  เหมือน
กับคำกล่าวที่ว่า  สังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม  เป็นสังคมที่เจริญ”  นายสมพร  ใช้บางยาง  
กล่าวทิ้งท้าย

                                              *************************************


โดย : * [ วันที่ ]