: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 6 ฉบับที่ 03 ประจำเดือน 03 2546
หัวข้อข่าว : ข้าว : วิถีของชาวไทย
รายละเอียด :
         คำว่า  “ข้าว”  สมัยโบราณเรียก  “เข้า”  (บางสำเนียงท้องถิ่นออกเสียงว่า  เค้า  เข่า  ข้าว)  เป็นพืชแถบร้อน  (Tropical)  

ซึ่งปลูกกันอย่างกว้างขวางทั่วโลกในปัจจุบัน  ตั้งแต่เอเซียตะวันออก  อียิปต์  และประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียนอื่น  ๆ  บราซิล  สหรัฐ

อเมริกา  ตลอดจนในหมู่เกาะ  West  India

         ประวัติเกี่ยวกับข้าวของชาวไทย

         จากหลักฐานทางโบราณคดีเช่น  เครื่องปั้นดินเผาและก้อนอิฐที่ขุดพบได้ในประเทศไทย  แสดงให้เห็นว่าบริเวณนี้มีการ

ปลูกข้าวมาไม่น้อยกว่า  5,500  ปีแล้ว  มีนักวิชาการได้ศึกษาหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องข้าวจากร่องรอยแกลบข้าวในอิฐจากโบราณสถาน

ในจังหวัดต่าง  ๆ  39  จังหวัด  จำนว  108  แห่ง  ทำให้ทราบว่าในช่วงพุทธศตวรรษที่  11 – 20  มีข้าวชนิดต่าง  ๆ  จำนวน  

3  ขนาดคือ  ข้าวเมล็ดใหญ่ได้แก่  ข้าวเหนียวที่ขึ้นงอกงามในที่สูง  ข้าวเมล็ดป้อมได้แก่  ข้าวเหนียวที่ขึ้นงอกงามในที่ลุ่ม  และข้าว

เมล็ดเรียวได้แก่  ข้าวเจ้า  ข้าวแต่ละชนิดพบมากหรือน้อยแตกต่างกันไปตามระยะเวลา  ในปัจจุบันดินแดนแถบนี้คงมีเพียงข้าวเมล็ด

ป้อมซึ่งพบมากในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  และข้าวเมล็ดเรียวซึ่งพบมากในภาคกลางและภาคใต้  ส่วนใหญ่ข้าว

เมล็ดใหญ่นั้นสูญพันธุ์ไปแล้ว

         พื้นฐานการกินข้าวแต่ดั้งเดิมของคนในตระกูลไทย – ลาวก็คือ  ข้าวเหนียวหรือข้าวนึ่งมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ก่อนสมัยทวารวดี  

แม้ในสมัยทวารวดีก็ยังกินข้าวเหนียวหรือข้าวนึ่งเป็นอาหารหลัก  และในสมัยทวารวดีเริ่มมีหลักฐานชัดเจนเกี่ยวกับข้าวเจ้า  ต่อมา

ภายหลังข้าวเจ้าก็แพร่หลายในภาคกลางและภาคใต้มากกว่าข้าวเหนียว  เพราะดินแดนแถบนี้อยู่ใกล้ทะเล  มีการติดต่อค้าขายและ

สังสรรค์กับชาวต่างชาติอยู่เสมอ  ๆ  มากกว่าผู้คนในดินแดนภาคอื่น  ๆ  ที่อยู่ภายในตอนบน  รวมทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

ในการปลูกข้าว  ตลอดถึงสภาพภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวย  จึงทำให้ข้าวเจ้าแพร่หลายมากขึ้น  ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศ

เกษตรกรรม  ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา  ซึ่งข้าวนับเป็นธัญพืชเศรษฐกิจของประเทศ  นอกจากจะเป็นสินค้า

ส่งออกในอันดับแรก  ๆ  แล้ว  ประเทศไทยยังได้ชื่อว่าเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกอีกด้วย  ดังนั้นผลผลิตข้าว

จึงมีความสำคัญต่อการดำรงชีพของชาวนาไทยทุกคน

         การทำนาของคนไทยแบ่งตามวิธีการปลูกออกเป็น  3  วิธีคือ

         1.  การทำนาหยอด  เป็นวิธีใช้สำหรับปลูกข้าวไร่  ในสภาพพื้นที่ที่มีน้ำไม่เพียงพอสำหรับการตกกล้าและปักดำ  โดยการหยอด

เมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ในหลุม  ๆ  ละ  3 – 5  เม็ด  แล้วกลบเมล็ดทิ้งไว้  เมื่อฝนตกข้าวก็จะงอกและเจริญเติบโตต่อไป

         2.  การทำนาดำ  เหมาะสำหรับบริเวณที่มีฝนตกหรือมีน้ำท่วมและพื้นดินเก็บกักน้ำได้ดี  เตรียมดินด้วยการไถและคราดให้

พื้นนาเป็นโคลนตม  นำต้นกล้าที่กกไว้ในแปลงกล้ามาปักดำในระยะห่างที่เหมาะสม

         3.  การทำนาหว่าน  ส่วนใหญ่เป็นวิธีการสำหรับปลูกข้าวขึ้นน้ำ  แต่อาจใช้กับการปลูกข้าวไร่หรือข้าวนาสวนก็ได้  การทำนา

หว่านแบ่งออกเป็น  2  ลักษณะคือ  การหว่านข้าวแห้ง  เตรียมดินไว้ด้วยการไถดะและไถแปร  จากนั้นนำเมล็ดข้าวไปหว่านแล้วไถหรือ

คราดแกลบอีกครั้ง  เมื่อฝนตกหรือปล่อยน้ำเข้าไป  ข้าวก็จะงอกงามขึ้น  จะมีผลเสียคือข้าวจะขึ้นเป็นระยะห่างไม่สม่ำเสมอกันและมัก

จะมีวัชพืชขึ้นมาด้วย  การหว่านข้าวงอก  เตรียมดินด้วยการไถดะและไถแปร  จากนั้นนำเมล็ดข้าวที่เพาะไว้จนเริ่มงอกแล้วไปหว่าน  

สามารถทำได้ดีทั้งในพื้นที่ดอน  ซึ่งเรียกว่าการทำนาน้ำตามฝนใหม่และในพื้นที่ลุ่ม  ซึ่งเรียกว่านาหว่านน้ำต้องหรือนาหว่านน้ำขัง

         ในประเทศไทยมีพันธุ์ข้าวหลากหลายมาก  สามารถจำแนกได้หลายลักษณะเช่น  แบ่งตามลักษณะการปรับตัวตามปริมาณน้ำ  

เป็นข้าวขึ้นน้ำและข้าวไม่ขึ้นน้ำ  แบ่งตามอายุการเก็บเกี่ยวเป็นข้าวหนักและข้าวเบา  ซึ่งแบ่งตามคุณภาพของแป้งเป็นข้าวเจ้าและ

ข้าวเหนียว  เป็นต้น

         พิธีกรรม  ความเชื่อ  ประเพณีที่เกี่ยวข้อง

         ข้าว  นอกจากจะมีความสำคัญในการเป็นธัญพืชซึ่งเป็นอาหารหลักของคนไทยแล้ว  ข้าวยังมีส่วนสำคัญในการกำหนดวิถีชีวิต

และวัฒนธรรมของไทยมาตั้งแต่อดีต  สิ่งเหล่านั้นแฝงอยู่ในเรื่องความเชื่อ  ประเพณี  และพิธีกรรมต่าง  ๆ  ซึ่งกลุ่มชนในแต่ละ

สังคมได้กำหนดระเบียบแบบแผนขึ้น  โดยอาจจะมีกรรมวิธีแตกต่างกันออกไปบ้างตามวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้น

         พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ  เป็นพิธีกรรมที่พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นองค์ประมุขของประเทศได้ทรงมี

พระมหากรุณาต่อชาวนาไทย  มีความมุ่งหมายที่จะทำให้เป็นตัวอย่างแก่เกษตรกร  ชักนำให้มีความมั่นใจในการทำนา  

ผู้เปรียบประดุจดังกระดูกสันหลังของชาติ  การที่พระมหากษัตริย็ได้ทรงมีส่วนร่วมในกิจกรรมด้านเกษตร  ถือเป็นการบำรุงขวัญ

และเป็นกำลังใจให้แก่เกษตรกรทั่วไป  เป็นต้นเหตุของความตั้งมั่นและความเจริญไพบูลย์ทั้งปวง

         พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ  แยกเป็น  2  พิธีคือ  พระราชพิธีพืชมงคล  เป็นพิธีทำขวัญเมล็ดข้าวพันธุ์

ข้าวต่าง  ๆ  เช่น  ข้าวเหนียว  ข้าวเปลือก  ข้าวฟ่าง  ข้าวโพด  ถั่ว  งา  เผือก  มัน  และพืชอื่น  ๆ  เพื่อให้พืชเหล่านั้นเจริญงอกงาม  ปราศจาก

โรค  โดยจะประกอบพระราชพิธี  ณ  พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  ส่วนพระราชพิธีแรกนาขวัญเป็นพระราชพิธีแรกก่อนที่

ชาวนาจะทำพิธีแรกนาในนาของตนเอง  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินไปเป็นองค์ประธานในพระราชพิธี  

ณ  ท้องสนามหลวง  ในพระราชประเพณีนี้สืบต่อกันมาทุกปี

         พิธีขอฝน

         การทำนายังคงต้องพึ่งพาอาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติ  ดังนั้นเมื่อถึงเวลาเพาะปลูกแล้วฝนยังไม่ตก  ชาวนาจึงต้องทำพิธีขอฝน  

ซึ่งมีชื่อเรียกและพิธีกรรมแตกต่างกันไป  เช่น  ประเพณีบุญบั้งไฟ  การโยนครกโยนสากของภาคอีสาน  การแห่นางแมวของภาคเหนือ  

ภาคกลาง  และภาคอีสาน

         ความเชื่อเกี่ยวกับพระแม่โพสพ

         ชาวนาเชื่อกันว่า  “แม่โพสพ”  เป็นผีหรือเทวดาประจำพืชที่มนุษย์เชื่อถือและบูชากราบไหว้  เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืช

ที่ปลูกตามฤดูกาล  เชื่อกันอีกว่าเทวดาประจำพืชดังกล่าวมักเป็นผู้หญิง  เพราะข้าวเป็นอาหารหลักใช้เลี้ยงชีวิตให้มีสุขภาพดี  เปรียบเสมือน

มารดาเลี้ยงลูกให้เติบโตต่อไป

         การลงแขก

         การลงแขกเป็นชื่อเรียกของภาคอีสาน  ภาคเหนือ  และภาคกลาง  ส่วนภาคใต้เรียกว่าออกปากกินวานหรือขอมือ  เป็นประเพณี

ที่สร้างความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ  เป็นการรวมกลุ่มแลกเปลี่ยนแรงงาน  โดยชาวนาจะขอแรงเพื่อนฝูง  ญาติมิตร  และเพื่อนบ้าน

ที่อยู่ร่วมชุมชนเดียวกัน  มาร่วมกันไถนา  ปักดำ  เก็บเกี่ยว  ตลอดจนเก็บข้าวเข้ายุ้งฉาง  เป็นประเพณีอันงดงามที่ก่อให้เกิดความรัก  ความ

สามัคคี  และความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน  อันจะส่งผลให้สมาชิกในชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

         อาหารที่ทำจากข้าว

         คนไทยบริโภคข้าวเจ้าและข้าวเหนียวเป็นอาหารหลักและขนม  โดยใช้เมล็ดข้าวที่ยังไม่แปรสภาพและแปรสภาพแล้วดังนี้

         -  เมล็ดข้าวที่ยังไม่แปรสภาพ  คือเป็นข้าวสำหรับบริโภคเป็นอาหารหลัก  โดยการหุงข้าวให้ได้เมล็ดสวยด้วยวิธีการต่าง  ๆ  เช่น  

การหุงข้าวแบบเช็ดน้ำ  การหุงข้าวแบบไม่เช็ดน้ำ  การนึ่ง  หรือการทำเป็นข้าวต้ม  หรือขนมโดยการผสมกับมะพร้าว  กะทิ  น้ำตาล  เช่น  

ข้าวเม่า  ข้าวเหนียวมันหน้ามะม่วง  หน้าสังขยา  หน้ากุ้ง  ข้าวเหนียวแก้ว  ข้าวเหนียวแดง  ข้าวหลาม  กระยาสารท  ข้าวต้มมัด  

ข้าวต้มจิ้ม  ข้าวต้มลูกโยน  ข้าวต้มน้ำวุ้น  เป็นต้น

         -  เมล็ดข้าวที่แปรสภาพแล้ว  โดยการนำเมล็ดข้าวแช่น้ำให้นิ่มแล้วนำไปโม่บดละเอียดพร้อมกับน้ำ  จากนั้นนำไปกรองและเกรอะ

เอาน้ำออกจนแห้ง  แป้งที่ได้จะทำเป็นอาหารและขนมได้  เป็นอาหารหลักเช่นเดียวกับข้าวสวย  เช่น  ขนมจีน  เส้นก๊วยเตี๋ยว  และเป็นขนม

ซึ่งมีทั้งแป้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียวเช่น  ข้าวญา  ขนมอัญชัน  ขนมช่อม่วง  ตะโก้  ข้าวเกรียบ  ขนมครก  ขนมถ้วย  ขนมดีซำ  ขนมลา  

กะละแม  ขนมหูช้าง  ขนมด้วง  ขนมเรไร  ขนมน้ำดอกไม้  เป็นต้น

         ข้าวมีความสำคัญมากกับชีวิตและสังคมของคนไทยมาตั้งแต่อดีตกาล  บรรพบุรุษไทยได้เรียนรู้และใช้ภูมิปัญญาในการ

นำเมล็ดพืช  (ข้าว)  ซึ่งมีลักษณะเป็นเม็ด  ๆ  ที่ห้อยอยู่กับหญ้า  นำมาจัดการให้กินและดัดแปลงเป็นอาหารในรูปแบบต่าง  ๆ  ได้มากมาย  

ซึ่งเป็นเรื่องน่าอัศจรรรย์ยิ่งนัก  ฉะนั้นลูกหลานไทยควรหันมามองและคิดถึงสิ่งที่เรียกว่า  “ข้าว”  ว่ามีความสำคัญและมีคุณค่าต่อ

บริบทของสังคมไทยมากน้อยเพียงใด  และควรปฏิบัติอย่างไรกับข้าววิถีของไทย  ก่อนที่จะมองสิ่งนำเข้าจากต่างแดนมาเป็นวิถีของ

ตน  เพราะมนุษย์เลือกหนทางที่ดีและเหมาะสมที่สุดในการดำรงชีวิตและเผ่าพันธุ์ของตัว  ท่ามกลางเงื่อนไขทางวัฒนธรรมที่แวดล้อม

เขา  แล้วเราชาวไทยละควรเลือกสิ่งใดในวิถีที่เป็นอยู่ปัจจุบัน



                                                                                   ***********************************



โดย : 192.168.148.54 * [ วันที่ 2005-06-10 15:01:12 ]