: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 6 ฉบับที่ 02 ประจำเดือน 02 2546
หัวข้อข่าว : ความเชื่อ : ศาสตราวุธจังหวัดชายแดนภาคใต้
รายละเอียด :
                    มนุษย์เป็นสัตว์โลกที่มีความคิดมีความฉลาดหลักแหลม  มีความคิดสร้างสรรค์รู้จักนำเอาสิ่งต่าง  ๆ  รอบตัวมาเป็นเครื่องมือ

อำนวยความสะดวก  เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของมนุษย์เอง  อันเนื่องมาจากมนุษย์ไม่มีเขี้ยวเล็กแหลมคมอย่างสัตว์ทั้งหลาย  จึงต้องสรรหา

อุปกรณ์อำนวยความสะดวกเป็นเครื่องมือทุ่นแรง  เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามที่มนุษย์ต้องการเพื่อความอยู่รอดของ

มนุษย์เอง  โดยเฉพาะการได้มาซึ่งอาหารในการเลี้ยงชีพ  ซึ่งเป็นปัจจัยส่งเสริมให้มนุษย์ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด  หลังจากที่รู้จักนำเอา

โลหะมาใช้ประโยชน์ได้แล้ว  มนุษย์ก็เริ่มสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขึ้นมามากมายที่เรียกว่าเครื่องมือเครื่องใช้  ตลอดจนอาวุธ  โดย

เฉพาะเมื่อมนุษย์ค้นพบโลหะเหล็กอันเป็นโลหะที่สามารถสร้างสรรค์เครื่องมือให้มีประสิทธิภาพในการใช้งานมากขึ้น  ในรูปแบบที่มี

ลักษณะตามความต้องการใช้งานและความเชื่อของแต่ละยุค  แต่ละสมัย  แต่ละท้องถิ่นขึ้นมากมายในท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้

อันได้แก่  ปัตตานี  ยะลา  และนราธิวาส  ผู้คนในแถบนี้ก็เหมือนกับท้องถิ่นวัฒนธรรมที่อื่น  ๆ  ได้คิดสร้างสรรค์อาวุธ  เครื่องมือ  

เครื่องใช้ขึ้นตามปัจจัยตาง  ๆ  ที่แวดล้อมเช่น  ทรัพยากรธรรมชาติ  ทรัพยากรบุคคล  และทรัพยากรภูมิปัญญาขึ้นมาหลากหลาย

รูปแบบ  เพื่อการดำรงชีวิต  การจัดการสังคม  การสั่งสมและพัฒนาเทคนิควิธีในการสร้างเครื่องมือเครื่องใช้เพื่อความอยู่รอดและ

อยู่ได้  ตามขีดความสามารถของภูมิปัญญาทางเทคโนโลยีของกลุ่มชนนั้น  ๆ

         ความเป็นดินแดนเชื่อมผ่านเป็นรัฐชายขอบและเป็นสังคมเปิด  จึงมีผู้คนหลายเชื้อชาติเข้ามามีปฏิสัมพันธ์และอาศัยอยู่ร่วมกันเช่น  

สยาม  มลายู  ชวา  อินเดีย  อาหรับ  จีน  จำปา  เป็นต้น  ซึ่งเป็นเหตุให้วัฒนธรรมของกลุ่มชนนั้น  ๆ  เข้ามาผสมผสานและการนำศาสนา

ต่าง  ๆ  เข้ามาเผยแพร่เช่น  ศาสนาพราหมณ์  ฮินดู  พุทธ  และอิสลาม  โดยเฉพาะ  “ปตานี”  เคยรุ่งเรืองทั้งทางด้านเศรษฐกิจ  

การค้า  การปกครอง  และการศาสนา  จึงทำให้วัฒนธรรมความเชื่อมีลักษณะเข้มแข็งและเด่นเฉพาะ  โดยเฉพาะวัฒนธรรมฮินดู  ศาสนา

พราหมณ์ลัทธิไศวนิกายและไวษราพนิกาย  วัฒนธรรมฮินดู  ชวา  และพุทธ  ก่อนที่ศาสนาอิสลามจะแพร่เข้ามาสู่บริเวณนี้

         ผลจากการศึกษาศาสตราวุธจังหวัดชายแดนภาคใต้  (จังหวัดปัตตานี  ยะลา  และนราธิวาส)  สามารถสรุปเกี่ยวกับประเด็น

ความเชื่อในการใช้ศาสตราวุธของผู้คนใน  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้  ออกได้เป็น  4  กลุ่มคือ

         1.  คติความเชื่อในเรื่องของศาสตราวุธที่มีกั่น

         ชาวใต้ในอดีตเชื่อกันว่าศาสตราวุธทั้งหลายประเภทที่มีกั่น  (ชาวใต้จะเรียกอาวุธที่มีกั่นว่า  “มีดพร้ามีกัน”  หรืออาวุธมีกัน  ซึ่งคำว่า  

กัน  มีความหมายตรงกับคำว่า  “ป้องกัน”  ในลักษณะของคติเรื่องของการตัดไม้ข่มหนาม)  จะเป็นตัวแทนหรือสมมุติเทพแห่งองค์พระ

พิษณุกรรม  หรือพระวิษณุกรรม  หรือพระวิศวกรรม  (ทั้งสามชื่อนั้นแทนองค์เดียวกันและจะเรียกอาวุธที่มีกันหรือมีกั่นทั้งหมดว่า  เพ็ด

สะหนูกัน)  อาวุธเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นมีด  พร้า  ขวาน  ไต  กริช  หอก  ดาบ  และสิ่งสามารถที่จะใช้ได้ทั้งในรูปของศาสตราอาวุธและเป็นทั้ง

เครื่องมือเครื่องใช้ในการก่อสร้าง  การช่างทั้งปวงได้ด้วย  จากคติฮินดูที่ว่าพระวิษณุกรรมหรือพระวิศวกรรมเป็นเทพการช่างการก่อสร้าง

ทั้งปวง  คตินี้จึงสมมุติให้มีด  พร้า  ขวาน  ไต  และสิ่ว  เป็นสมมุติแห่งองค์พระวิษณุกรรมหรือเวดสะหนูกันก็มีที่มาจากเหตุดังกล่าวนี้เอง  

เพราะการจะเหลา  จะถาก  จะตัด  จะเกลาไม้ให้เป็นรูปแบบและขนาดได้ตามต้องการ  ก็ต้องใช้อำนาจและอิทธิฤทธิ์แห่งพระเพ็ดสะหนูหรือ

มีดพร้าทั้งหลายนั่นเอง  จึงมีข้อห้ามมิให้มีการเดิมข้ามหรือเหยียบย่ำ  หรือวางเพ็ดสะหนูกันไว้ในที่ต่ำ  จะเป็นอัปมงคลแก่ผู้นั้นได้

         นอกจากนี้ชาวใต้ยังเชื่อกันว่าอาวุธที่มีกั่น  (กัน)  ทั้งหลายสามารถใช้ป้องกันอาถรรพ์และสิ่งชั่วร้ายต่าง  ๆ  ได้  ดังนั้นในการประกอบ

พิธีกรรมต่าง  ๆ  ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องไสยศาสตร์ทั้งหลาย  ผู้ประกอบพิธีหรือพ่อหมอจะต้องพกศาสตราวุธที่มีกั่นติดตัวเอาไว้ขณะประกอบ

พิธีกรรม  มิฉะนั้นผู้ประกอบพิธีกรรมจะโดนอาถรรพ์หรือสิ่งชั่วร้ายต่าง  ๆ  เข้ากับตนเองได้  ซึ่งในท้องถิ่นจะเรียกว่า  “ถูกเสนียดจัญไร”  ซึ่ง

จะทำให้ผู้นั้นมีอันเป็นไปต่าง  ๆ  นานาในภายหลังได้เช่น  เจ็บป่วยหรือเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุหรือวิกลจริยได้  ดังนั้นจึงพบว่าการ

ประกอบพิธีกรรมต่าง  ๆ  ที่เกี่ยวข้องกับไสยศาสตร์ของชาวภาคใต้เช่น  การตัดผม  ตัดจุก  ไหว้พระภูมิเจ้าที่  พิธีกรรมเกี่ยวกับศพ  ฯลฯ  

ผู้ทำพิธีจะต้องพกมีดหรือกริชหรือพระขรรค์ติดตัว

         2.  คติความเชื่อในเรื่องของศาสตราวุธที่ทำมาจากเหล็กประสม

         ชาวใต้ในอดีตเชื่อว่าถ้าใบมีดที่ทำเป็นศาสตราวุธนั้น  ๆ  ทำขึ้นมาจากเหล็กประสมหลาย  ๆ  อย่าง  ซึ่งแต่ละอย่างเชื่อว่ามีคุณ

วิเศษแตกต่างกัน  ดังเช่นเหล็กขอช้างเป็นมงคลในด้านอำนาจและบริบูรณ์ในทุก  ๆ  สิ่ง  เหล็กสมอเรือมีคุณในด้านการเป็นหมอไสยศาสตร์

และหมอยารักษาโรคที่ดี  เหล็กโซ่จะทำให้ผู้เป็นเจ้าของศาสตราวุธนั้นมีความกล้าหาญสู้ในทุก  ๆ  สิ่งที่เป็นอุปสรรค  เหล็กกั่นอาวุธที่หักขาด

ติดอยู่ในด้าม  จะป้องกันภัยอันตรายรอบด้านได้อย่างเด็ดขาดและชะงัดยิ่งนัก  ฯลฯ

         ดังนั้นใบมีดหรือใบศาสตราวุธใดที่ทำขึ้นมาจากเหล็กที่มีคุณวิเศษ  ตามคติความเชื่อมากชนิดมากอย่างเท่าใดยิ่งเชื่อว่าศาสตราวุธ

เล่มนั้น  ๆ  ยิ่งมีความขลังความศักดิ์สิทธิ์มากยิ่ง  ๆ  ขึ้นไป  ยิ่งเป็นอาวุธที่มีกั่นอยู่แล้วมาผนวกกับการทำขึ้นมาจากเหล็กประสบที่มีคุณวิเศษ

หลากหลายชนิดด้วยแล้ว  คติความเชื่อในเรื่องของความขลังยิ่งมีมากขึ้นเป็นทวีคูณ  จากการสำรวจพบว่าศาสตราวุธโบราณชนิดต่าง  ๆ  

ของชาวใต้ในอดีตจะเป็นศาสตราวุธที่มีกั่นและเป็นเหล็กประสมเสียเป็นส่วนใหญ่  อาทิ  มีด  พร้า  กริช  หอก  และดาบ  เป็นต้น  ทั้งนี้อันเนื่อง

มาจากคติความเชื่อดังที่กล่าวมานี้

         3.  คติความเชื่อในเรื่องของลายต่าง  ๆ  ที่เกิดขึ้นในใบของศาสตราวุธที่มีกั่นและเป็นเหล็กประสมชนิดต่าง  ๆ  จะเกิดเป็นเหล็ก

รูปแบบใหม่ที่มีลายที่เกิดขึ้นในเนื้อไม้  อันเนื่องมาจากเนื้อเหล็กต่างชนิดต่างคุณสมบัติ  จึงทำให้เกิดสีแตกต่างจนเป็นลายขึ้นมาให้

เห็นในเนื้อเหล็กที่ทำเป็นใบศาสตราวุธ  ต่อมาช่างผู้ผลิตได้ศึกษาและพัฒนาให้เกิดเป็นลายรูปแบบต่าง  ๆ  ขึ้นหลากหลาย  อาทิ  ลายก้นหอย

จะทำให้เจ้าของมีความสวัสดิมงคล  ลายตีนช้าง  (ตาเป๊าะกาเยาะห์)  จะทำให้ผู้เป็นเจ้าของมีความอุดมสมบูรณ์ในทุก  ๆ  อย่าง  ลาย

รวงข้าวจะทำให้ผู้เป็นเจ้าของได้ดีในทางเกษตรกรรมและปศุสัตว์  ดังนั้นมีดหรือศาสตราวุธเล่มใดที่เป็นทั้งอาวุธที่มีกั่น  เป็นทั้งอาวุธ

เหล็กประสมและมีทั้งลายมงคลตามตำรา  อาวุธเล่มนั้น  ๆ  ยิ่งมีความขลังและมีค่ายิ่ง  ๆ  ขึ้นไป

         4.  คติความเชื่อในเรื่องรอยตำหนิที่เกิดขึ้นบนใบของศาสตราวุธ

         ชาวใต้ในอดีตเชื่อว่าถ้าใบมีดหรือใบของศาสตราวุธใด  ๆ  มีรอยแตกลายบนใบมีดคล้ายดินแตกระแหงก็ดี  สันของใบมีดมีรอย

แตกร้าวก็ดี  ใบมีดมีรอยแตกทะลุจากด้านหนึ่งก็ดี  เชื่อว่ามีดลักษณะนั้นเป็นมีดดีเป็นมีดนำโชค  ซึ่งภาษามลายูจะเรียกว่ามีดตูวะห์  ถ้ามีไว้

ในครอบครองหรือพกพาติดตัวไปจะช่วยให้เจ้าของปลอดภัยและแคล้วคลาดจากอันตรายทั้งปวง  ถ้าใช้ทำเป็นมีดหมอจะดีนักแล  ผู้คน

เลื่อมใสศรัทธายิ่งนัก  โดยเฉพาะใบมีดที่แตกทะลุจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่งจะเรียกว่า  “แตกชื่อผี”  ใครพกพาติดตัวไปภูตผีทั้งหลาย

จะกลัวและไม่กล้าเข้าใกล้ผู้นั้นเลย  แต่ถ้ามีดหรือศาสตราวุธเล่มใดก็ตามที่ปลายแหลมของใบมีดแตกแยกตัวออกเป็นสองแฉกดังเช่นลิ้นงู

หรือลิ้นตะกวด  มีดเล่มนั้นจะเป็นมีดอุบาทว์เป็นมีดอัปมงคล  ผู้ใดมีไว้ในครอบครองหรือพกพาติดตัวไปจะเกิดโทษและภัยพิบัติ  ตลอด

จนความเดือดร้อนต่าง  ๆ  มาสู่ผู้เป็นเจ้าของอยู่ตลอดทุกเมื่อ  แก้ไขได้โดยการนำไปทิ้งทะเลหรือทิ้งในแม่น้ำลำคลองเสีย  ความเป็น

อัปมงคลต่าง  ๆ  ก็จะหมดไป  อย่านำไปทิ้งในที่ทางของผู้อื่นเพราะเจ้าของที่จะเกิดอัปมงคลขึ้นมาได้เช่นกัน  จะเป็นบาปแก่ผู้ที่นำ

ไปทิ้งต่อติดกันมา

         ดังนั้นถ้ามีดเล่มใดหรือศาสตราวุธเล่มใดที่ท่านมีอยู่ในครอบครอง  มีคุณสมบัติครบถ้วนทั้งสี่ประการดังที่กล่าวมานี้  มีดหรือ

ศาสตราวุธเล่มนั้นจะเป็นมีดดีมีมงคลหาค่าหรือประมาณค่ามิได้เลย  ตามคติความเชื่อของบรรพชนในท้องถิ่นเมื่อครั้งอดีต  ถ้ามีดเล่มใด

มีรอยแตกรอยแยกก็ขอความกรุณาอย่าได้นำทิ้งทะเลเลย  ขอให้ท่านนำไปมอบไว้ให้กับพิพิธภัณฑ์ใดก็ได้ที่อยู่ใกล้บ้านท่าน  เพื่อประโยชน์

ในการศึกษาทางคติชนวิทยาแก่ลูกหลานท่านในรุ่นหลังสืบต่อไป



                                                                                     ***********************************

โดย : 192.168.148.54 * [ วันที่ 2005-05-10 13:12:09 ]