: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 7 ฉบับที่ 08 ประจำเดือน 10 2537
หัวข้อข่าว : รัฐทุ่ม 13.8 ล้านบาทให้ ม.อ. ปัตตานี ตั้งศูนย์ศึกษาและพัฒนาอ่าวปัตตานี
รายละเอียด :
                    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  ได้รับงบประมาณกว่า  13  ล้านบาท  จัดตั้งศูนย์ศึกษาและ

พัฒนาอ่าวปัตตานี  ตามแผนงานเร่งรัดพัฒนา  5  จังหวัดชายแดนภาคใต้  ทั้งนี้เพื่อศึกษาและเป็นศูนย์ประสานเกี่ยวกับ

การพัฒนาอ่าวปัตตานี  รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ

         อ่าวปัตตานีเป็นอ่าวสำคัญที่สุดในภาคใต้ของไทย  มีพื้นที่  74  ตารางกิโลเมตร  รอบอ่าวปัตตานีประกอบ

ด้วยประชาชนประมาณ  6  หมื่นคน  ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการทำประมงพื้นบ้าน  ในอดีตอาชีพประมงพื้นบ้านใช้เรือ

กอและและอุปกรณ์ในการจับปลาที่ลงทุนครอบครัวละ  4 - 5  หมื่นบาท  ก็สามารถเลี้ยงชีพได้  เนื่องจากระบบนิเวศน์

วิทยามีความสมบูรณ์และสัตว์น้ำมีมากเพียงพอในการทำประมง  แต่ในระยะ  10  ปีที่ผ่านมา  อ่าวปัตตานีได้กลายเป็น

แหล่งสะสมของเสีย  สิ่งปฏิกูลจากโรงงานอุตสาหกรรมและน้ำเน่าจากชุมชนที่ไม่ได้ถูกปล่อยลงในท่อระบายน้ำเสียอย่าง

เป็นระบบ  แต่ปล่อยลงสู่อ่าวปัตตานีจนกลายเป็นแอ่งน้ำเสียขนาดใหญ่  ซึ่งหลักฐานที่ชัดเจนคือการวิจัยของมหาวิทยาลัย

สงขลานครินทร์  นับจากปี  2527  จนถึงปัจจุบันระบุว่าสัตว์น้ำในอ่าวปัตตานีลดน้อยลง  เนื่องจากคุณภาพน้ำในอ่าว

ปัตตานีประกอบด้วยสารเคมีหลายชนิด  ที่แปรสภาพจากน้ำที่โรงงานอุตสาหกรรมและชุมชนปล่อยลงในอ่าว

         จากการสำรวจสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม  โดยคณะวิจัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ในปี  2529  

และปี  2534 ได้ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของหมู่บ้านรอบอ่าวที่มีแนวโน้มน่าวิตกอย่างยิ่ง  

ทั้งนี้พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของอาชีพ  เนื่องจากการสูญเสียแหล่งผลิตอาหารเพื่อยังชีพเดิมของชุมชน  

อัตราการอพยพและย้ายถิ่นมีเพิ่มขึ้น  ปัญหาการว่างงานมีมากขึ้น  โดยเฉพาะในวัยแรงงานซึ่งจะส่งผลต่อปัญหา

สังคมเช่น  ปัญหายาเสพติด  อาชญากรรม  ปัญหาครอบครัว  ตลอดจนคุณภาพชีวิตของชุมชน

         ผศ. ผดุงยศ  ดวงมาลา  รองอธิการบดี  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  เปิดเผยต่อ

เรื่องนี้ว่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  ในฐานะหน่วยงานระดับอุดมศึกษาของรัฐซึ่งตั้งอยู่ในท้อง

ที่จังหวัดปัตตานี  ได้ตระหนักถึงภารกิจความรับผิดชอบทางวิชาการ  ที่จะต้องตอบสนองต่อปัญหาท้องถิ่นดังกล่าว

ข้างต้น  และได้ดำเนินการอย่างเต็มศักยภาพ  เพื่อมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาโดยตรง  จึงได้จัดตั้ง  ศูนย์ศึกษาและ

พัฒนาอ่าวปัตตานี  (Pattani  Bay  Studies  and  Development  Center  =  PAB)  โดยมีวัตถุประสงค์

เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลพื้นฐานและผลิตงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับอ่าวปัตตานี  และเป็นศูนย์ประสานงานการศึกษาวางแผนเพื่อ

พัฒนาอ่าวปัตตานี  ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อการวางแผนพัฒนาภาคใต้ตอนล่างต่อไป  ซึ่งจะส่งผลต่อนโยบายของรัฐบาล

ในการรองรับโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ

         รองอธิการบดี  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  รายงานเพิ่มเติมว่ามหาวิทยาลัยได้รับ

งบประมาณแผ่นดินในแผนงานเร่งรัดพัฒนา  5  จังหวัดชายแดนภาคใต้  จำนวน  13,822,891  บาท  (สิบสามล้าน

แปดแสนสองหมื่นสองพันแปดร้อยเก้าสิบเอ็ดบาทถ้วน)  ในการปฏิบัติงานศูนย์ศึกษาเพื่อพัฒนาอ่าวปัตตานี  หรือ  PAB  

ซึ่งเริ่มดำเนินการในระยะแรกระหว่างปี  2538 - 2540  โดยมีการจัดทำงานวิจัยในหัวข้อต่าง  ๆ  ที่เกี่ยวข้องกับการ

พัฒนาอ่าวปัตตานี  รวม  11  โครงการ  อาทิ  งานวิจัยเรื่อง  ระบบฐานข้อมูล  การพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม  การศึกษา

สภาพเศรษฐกิจ  สังคมของชุมชนรอบอ่าว  ฯลฯ  ทั้งนี้โดยได้รับความร่วมมือจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดน

ภาคใต้  ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานราชการและเอกชน



                                                                            *******************

โดย : 203.154.179.21 * [ วันที่ 2001-05-06 14:43:41 ]