: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ฉบับที่ /0 ประจำเดือน 9/ 2540
หัวข้อข่าว : นักวิชาการ ม.อ. ปัตตานี ชี้ไฟไหม้ป่าในอินโดนีเซียมีผลกระทบต่อประเทศไทย
รายละเอียด :
ฉบับที่  073/2540                                                                           29  กันยายน  2540

         นักวิชาการภูมิศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  ตรวจวัดสภาพอากาศที่เป็นผลจากไฟไหม้ป่าใน
อินโดนีเซียพบว่า  ความหนาแน่นของฝุ่นควันมีมากและความชื้นสัมพันธ์ลดลงรุนแรง  เชื่อมั่นหากไฟยังไม่ดับภายใน  2  สัปดาห์  กลุ่ม
ควันจะปกคลุมทั่วประเทศไทย
         รศ. ครองชัย   หัตถา  นักวิชาการภูมิศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  เปิดเผยว่าตามที่ได้เกิดไฟไหม้ป่าในประเทศ
อินโดนีเซียต่อเนื่องมาประมาณ  3  สัปดาห์  ยังผลให้ควันไฟถูกกระแสลมพัดไปปกคลุมประเทศมาเลเซียและประเทศไทยแล้ว  ในปริมาณ
ที่หนาแน่นจนสังเกตได้อย่างชัดเจนและทำให้ทัศนวิสัยหรือการมองเห็นมีประมาณ  800  เมตรในที่โล่ง  กลุ่มควันดังกล่าวขณะนี้ปกคลุม
ทุกจังหวัดของภาคใต้ของประเทศไทยแล้ว  คาดว่าภายใน  2  สัปดาห์  กลุ่มควันจะปกคลุมประเทศไทยและปกคลุมต่อเนื่องไปอีกนาน
หนึ่งเดือนครึ่งถึงสองเดือน  ถ้ายังไม่สามารถดับไฟได้หรือถ้าไม่มีลมมรสุมพัดผ่าน
         รศ. ครองชัย   หัตถา  ชี้แจงว่าได้ทำการดักจับฝุ่นละอองเพื่อตรวจดูชนิดและปริมาณเมื่อวันพฤหัสบดีที่  25  กันยายน  
2540  พบว่ามีอนุภาคที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าและเมื่อตรวจสอบด้วยกล้องสเตอริโอสโคป  พบอนุภาคของฝุ่นละอองที่สื่อว่า
เป็นอนุภาคที่ผ่านการเผาไหม้  เนื่องจากฝุ่นละอองดังกล่าวมีสีดำและสีน้ำตาลส่วนใหญ่จะเป็นคาร์บอน  นอกจากนี้ยังพบตัวอ่อนของแมลง
ขนาดเล็กมากกว่า  1  ชนิด  ตกลงมาด้วย  ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการที่แมลงเหล่านี้เมาอากาศที่เต็มไปด้วยฝุ่นควันแล้วตกลงมา
         นอกจากการดักจับฝุ่นละอองแล้ว  รศ. ครองชัย  ยังได้ตรวจสอบความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศในวันเดียวกัน  เวลา  15.00  น.  
ซึ่งในเวลาดังกล่าวโดยเฉลี่ยความชื้นสัมพัทธ์ของภาคใต้ของไทยจะอยู่ที่  70 %  แต่จากการตรวจวัดพบว่าอากาศมีความชื้นสัมพัทธ์
เพียง  50 %  เท่านั้น  ความชื้น  20 %  ที่หายไปเนื่องจากอากาศสูญเสียความชื้นเร็วกว่าปกติกล่าวคือ  ความชื้นในอากาศจะไปจับฝุ่น
ควันที่มีปริมาณหนาแน่นในอากาศ  ทำให้อากาศมีความแห้งมากกว่าปกติ  นอกจากนี้ยังพบความหยุดนิ่งของอากาศ  เนื่องจากภายใต้
ชั้นควันที่ปิดกั้นแสงอาทิตย์ไว้  อุณหภูมิของอากาศจะไม่มีความแตกต่างกันเลย  จึงส่งผลให้ไม่มีการเคลื่อนไหวของอากาศ
         นักวิชาการภูมิศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  กล่าวต่อไปว่าเนื่องจากปริมาณควันไฟที่หนาแน่น  ดังนี้เพื่อเป็นการ
ป้องกันและรักษาสุขภาพ  จึงควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีควันไฟหนาแน่น  ควรอยู่ในห้องทำงานหรือที่พักอาศัยที่มีการกรองอากาศ  
ทั้งนี้อาจใช้ผ้าชุบน้ำแขวนไว้ที่ประตู  หน้าต่าง  เพื่อปิดกั้นฝุ่นละอองและไม่ควรนำน้ำฝนที่ตกในระยะนี้มาดื่ม  เพราะน้ำฝนที่ชะล้าง
ควันไฟลงมาจะมีสภาพเป็นฝนกรด
         รศ. ครองชัย  หัตถา  กล่าวว่ากรณีไฟไหม้ป่าในอินโดนีเซียเป็นพื้นที่ถึงสามแสนเอเคอร์นี้  นับเป็นการสูญเสียป่าดิบขึ้น
ครั้งใหญ่ของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้  เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าดิบชื้นที่มีความสำคัญ  การจะฟื้นสภาพป่าก็จะต้องใช้เวลาอย่าง
น้อย  20  ปี  นอกจากนี้ก็ทำให้สูญเสียสัตว์ป่าไปจำนวนหนึ่งด้วย

                                                                                    ****************

โดย : 203.154.179.22 * [ วันที่ 2001-01-27 12:35:22 ]